shopup.com

ดูบทความการกำหนดรายการอาหาร สำหรับครอบครัว

การกำหนดรายการอาหาร สำหรับครอบครัว

การกำหนดรายการอาหาร ควรถือว่าเป็นงานชิ้นสำคัญ ที่ควรจะมีการกำหนดไว้ล่วงหน้าเพราะจะช่วยให้มีแผนงานอย่างมีระเบียบเกี่ยวกับการจับจ่ายใช้สอยภายในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเกี่ยวกับอาหารการกิน ซึ่งนับได้ว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชีวิตประจำวัน ปัจจุบันผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ พ่อบ้านแม่บ้านส่วนใหญ่ได้ฝากท้องไว้กับร้านอาหาร เพราะภารกิจนอกบ้านทำให้ไม่มีเวลาเพียงพอที่จะจัดหาอาหาร ถ้าจะพิจารณาให้ละเอียดแล้ว การปรุงอาหารรับประทานเองแต่ละมื้อ เป็นการประหยัดและได้อาหารที่สด สะอาด ถูกหลักอนามัย และรสชาติถูกปากมากกว่า อาหารที่ซื้อสำเร็จรูปเพราะการปรุงทิ้งไว้นาน คุณภาพของอาหารย่อมเสื่อมลง การกำหนดรายการอาหารสำหรับครอบครัวควรทำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยอาจยึดหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 
1. ควรกำหนดรายการที่ต้องการรับประทานแต่ละวันไว้ล่วงหน้าหลาย ๆวัน แล้วกำหนดออกเป็นอาทิตย์ เพราะจะช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาจ่ายตลาดว่าจะรับประทานอะไรบ้างในมื้อต่าง ๆ ช่วยประหยัดเวลา แรงงาน และพลังความคิดที่จะสูญเสียไป 
2. งบประมาณที่มีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้ามีงบประมาณน้อยจะต้องกำหนดรายการอาหารด้วยความระมัดระวังอย่างที่สุด คุณค่าของอาหารย่อมวัดด้วยราคาไม่ได้ แต่เราสามารถจะดัดแปลงอาหารราคาถูกแต่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ให้เป็นอาหารที่น่ารับประทานและมีรสอร่อยได้ ถ้าได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบด้วยการวางแผนล่วงหน้าทุกครั้ง 
3. ผู้รับประทานหรือจำนวนสมาชิกในครอบครัว ที่มีวัย รสนิยม ในเรื่องความชอบและไม่ชอบอาหาร ความอยากอาหารต่างกัน การเปลี่ยนวัยของบุคคลย่อมมีบทบาทสำคัญ ในเรื่องความชอบและไม่ชอบอาหารด้วย เช่น เด็ก ๆไม่ชอบอาหารขื่น ขม ฉุน แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่แล้วรับประทานได้ ในครอบครัวไทยเป็นแบบครอบครัวเสริม มีบุคคลหลายชั้น เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา ลงไปถึงเด็ก ๆชั้นลูก หลาน เหลน อยู่ร่วมกัน การหุงอาหารยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น เพื่อจะให้อาหารที่คาดคะเนรายการไว้ล่วงหน้าถูกปากและสามารถปรับปรุงตามความต้องการของแต่ละบุคคล และให้เหมาะกับจำนวนผู้รับประทานภายในครอบครัว โดยไม่ควรเหลือทิ้งขว้าง 
4. เวลาหรือมื้ออาหาร ผู้ประกอบอาหารจะต้องทราบว่า อาหารชนิดใดเหมาะสำหรับมื้อใด จะได้กำหนดรายการให้แน่นอนไว้ล่วงหน้า ยกตัวอย่าง อาหารมื้อเช้านิยมรับประทานอาหารที่ปรุงง่าย ไม่มีวิธีการปรุงที่สลับซับซ้อน เช่น ข้าวต้ม ข้าวสวย แกงจืด ข้าวผัด ขนมปัง เป็นต้น เพราะสะดวกแก่การปรุงและประหยัดเวลา มื้อกลางวันส่วนใหญ่เป็นอาหารจานเดียวปรุงง่ายรวดเร็ว มื้อเย็นส่วนใหญ่เป็นอาหารหนัก ถือว่าเป็นอาหารมื้อหลักเพราะส่วนใหญ่การปรุงสลับซับซ้อนกว่ามื้ออื่น ๆ ทั้งนื้อาจดัดแปลงเปลี่ยนมื้ออาหารให้เหมาะสม เช่น บางครอบครัวรับประทานอาหารกลางวันเป็นอาหารมื้อหนัก แต่มื้อเย็นรับประทานอาหารเบา เป็นต้น 
5. ลักษณะของอาหาร อาหารแต่ละชนิดในแต่ละมื้อต้องมีล้กษณะน่ากิน ทั้งสีสันเข้าก้นได้ ร้บประทานเข้าไปแล้วเกิดประโยชน์ต่อร่างกาย ผู้กำหนดรายการอาหารจะต้องเข้าใจถึงลักษณะต่างๆของอาหารว่า ดีหรือไม่ดี แต่ละอย่างมีคุณค่าต่อร่างกายอย่างไรบ้าง คือ มีความรู้ในด้านอาหารและโภชนาการพอสมควร อาหารที่น่ารับประทานนั้นจะต้องประกอบไปด้วย 
5.1. สีสันต้องน่ากิน ควรจัดให้อาหารแต่ละชุดมีสีสันแตกต่างกันไป โดยยกตัวอย่างอาหารมื้อเย็น ให้เห็น 1 ชุดดังต่อไปนี้ 
ตัวอย่างอาหารมื้อเย็น 
แกงเผ็ดไก่ (แดง) 
ผัดผักคะน้า (เขียว) 
ปลาเล็กปลาน้อยทอด (น้ำตาล) 
ข้าวโพดคลุก (ขาว-เหลือง) 
 วิธีช่วยให้อาหารน่ารับประทานในแต่ละมื้ออาจยึดหลักเกณฑ์ดังันี้ 
1. พยายามใช้ผักสีแตกต่างกัน เช่น แกงส้มผักรวม ข้าวผัดอนามยั ใช้ผักสีต่างๆ จะช่วยให้อาหารน่ารับประทานขึ้น 
2. การประกอบอาหารอย่างถูกวิธี คือ ต้องหุงต้มโดยวิธีสงวนคุณค่าของอาหาร เช่น การหุงต้มผัก อย่าให้เละ เป็นต้น 
3. ตกแต่งอาหารด้วยผักและผลไม้ เช่น ใช้มะเขือเทศ สับปะรด ต้นหอม ผักชี พริกแดง ตกแต่ง จานอาหารทำให้ดูสวยสดน่ารับประทาน 
4. เลือกใช้ภาชนะที่เหมาะสม จะช่วยให้อาหารน่ารับประทานเหมาะสมที่สุดสำหรับการรับแขก การใช้สีแต่งอาหารนิยมใช้กันมานาน ควรต้องระมัดระวัง โดยใช้สีที่ระบุไว้สำหรับเจืออาหารเท่านั้น ถ้าใช้สีย้อมผ้าหรือสีราคาถูกจะเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค จัดอยู่ในจำพวกสิ่งมีพิษซึ่งเจือปนในอาหารถ้าหลีกเลี่ยงได้ เช่น ถ้าต้องการใช้สีเหลือง อาจใช้ขมิ้นผงละลายน้ำ จะได้อาหารสีสวยงาม ถ้าต้องการสีเขียวใช้น้ำใบเตย เป็นต้น บางตำรับที่เสนอแนะไว้ให้เจือมีปน เช่น ขนมลูกชุบ มะพร้าวแก้ว หรืออื่นๆ นั้นควรใช้สีขนมตามข้อเสนอแนะที่กล่าวไว้ในที่นี้ ในเรื่องของการแต่งสีในอาหารนั้น เหมาะที่จะใช้ในโอกาสพิเศษเท่านั้น อาหารที่ใช้ในชีวิตประจำวันไม่จำเป็นต้องแต่งสี
5.2. รสชาติ กลิ่น เนื้ออาหาร ในการกำหนดรายการอาหารควรจะคำนึงถึงอาหารจานหลักก่อน ยกตัวอย่างเช่น อาหารจำพวกแกงต่างๆ เป็นอาหารหลัก อาจติดตามด้วยผัดผักต่างๆ แล้วมีเครื่องเคียงซึ่งเป็นอาหารจำพวกทอด ถ้ามีแกงจืด ของคู่ควรจะเป็นผัดเผ็ดหรือน้ำพริก พร้อมด้วยเครื่องเคียงต่างๆ เป็นต้น เนื้ออาหารหมายถึง ความกรอบ นุ่ม ความสดของอาหาร จะต้องให้มีลักษณะต่างๆ กันในแต่ละมื้อ ถ้าอาหารในมื้อนั้นมี หมี่กรอบหรือปลาทอดกรอบแล้ว ชนิดอื่นควรจะเป็นแกงส้มผักรวม ไข่ตุ๋น เป็นต้น กลิ่นของอาหารไม่ควรจะเป็นกลิ่นเดียวกัน เพราะไม่ชวนให้เกิดความอยากรับประทาน 
6. ฤดูกาล ฤดูกาลในที่นี่มีความหมายอยู่สองอย่างคือ หมายถึง ฤดูกาลที่มีผัก ปลาอุดมสมบูรณ์ ผู้กำหนดรายการอาหารควรจะรู้จักเลือกอาหารให้เหมาะสมกับฤดูกาลเพราะราคาถูก สดกว่าอาหารเหล่านี้รสดีและมีคุณค่าทางอาหารสูงกว่า อีกอย่างหนึ่ง หมายถึง ฤดูกาลของอากาศ เช่น ในฤดูร้อนควรกำหนดรายการจำพวกที่มีไขมันน้อย ควรเป็นอาหารประเภทใส่น้ำแข็ง เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วเกิดความรู้สึกเย็นสบาย เป็นต้น 
7. เพศและกิจกรรมของแต่ละบุคคล บุคคลที่ต้องทำงานหนัก สูญเสียพลังงานในการทำงานหรือกิจกรรมต่างๆ ควรกำหนดรายการอาหารแต่ละมื้อให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย อาหารที่ให้พลังงานได้แก่ ไขมัน แป้ง และน้ำตาล ควรให้ได้บริโภคทุกมื้อ อีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ เพศ ในครอบครัวที่มีผู้ชายมาก ส่วนใหญ่รับประทานปริมาณมากกว่าผู้หญิงและแคลอรีที่ต้องการต่อวันก็มากกว่าด้วย
8. ความสามารถพลิกแพลงและยืดหยุ่นให้เหมาะสม เป็นหลักที่ควรพิจารณาในการกำหนดรายการอาหาร สมมติว่า ในรายการกำหนดไว้ว่าจะใช้ผักกาดกวางตุ้ง แต่ไม่สามารถหาได้ ก็ควรจะมีการยืดหยุ่นใช้ผักเขียวชนิดอื่นๆ แทนได้ในเมื่อผักนั้น ๆ มีคุณค่าใกล้เคียงกัน 

ที่มา : สุนีมาศ โนรี

12 สิงหาคม 2563

ผู้ชม 15407 ครั้ง

Engine by shopup.com