shopup.com

ดูบทความปัญหาการประเมินค่าเครื่องจักร

ปัญหาการประเมินค่าเครื่องจักร

ดร.โสภณ พรโชคชัย 
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

          เมื่อวันศุกร์ที่ 15 กันยายน 2549 ผมได้รับเชิญไปดำเนินการสัมมนาตลอดทั้งวันเพื่อระดมสมองเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินค่าเครื่องจักร ซึ่งจัดโดยสำนักงานทะเบียนเครื่องจักรกลาง กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาถึง 250 ท่านจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคสถาบันการเงินและบริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน

ปัญหาการประเมินค่าเครื่องจักร
          ในประเทศไทย ยังมีผู้ประเมินค่าทรัพย์สินประเภทเครื่องจักรจำนวนน้อย ทั้งที่มีเครื่องจักรนับล้าน ๆ เครื่อง เครื่องจักรถือเป็น “ทุน” อย่างหนึ่ง ซึ่งรัฐบาลในปัจจุบันพยายามส่งเสริมการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนเพื่อการกู้ยืม มาปรับปรุง และขยายกิจการด้วยการพึ่งตนเองบนพื้นฐานทุนหรือหลักประกันที่ตนมีอยู่และการ ที่มีผู้ประเมินจำนวนน้อย มาตรฐานและแนวทางในการประเมินค่าเครื่องจักร จึงอาจมีความแตกต่างกันอันส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ใช้บริการ
          ดังนั้นเพื่อให้การประเมินค่าเครื่องจักรดำเนินการไปในแนวทาง เดียวกันและสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจน จึงควรมีการกำหนดมาตรฐานการประเมินค่าเครื่องจักรที่ชัดเจน อันจะนำมาซึ่งความมั่นใจต่อเจ้าของเครื่องจักร สถาบันการเงินที่อำนวยสินเชื่อ หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน

เครื่องจักรในฐานะทรัพย์สิน
          ทรัพย์สินหรือกิจการในโลกนี้สามารถแบ่งออกเป็นทรัพย์สิน ที่จับต้องได้และทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ ทรัพย์สินที่จับต้องได้ ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ ส่วนทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เช่น ยี่ห้อสินค้า ชื่อเสียงกิจการ สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ เป็นต้น เครื่องจักรจัดเป็นทรัพย์สินประเภทสังหาริมทรัพย์ เพราะสามารถเคลื่อนย้ายได้ (ยกเว้นสิ่งก่อสร้างพิเศษที่สร้างขึ้นมาเพื่อรองรับหรือเป็นส่วนหนึ่งของ เครื่องจักรนั้น)

          ดังนั้นการประเมินค่าเครื่องจักร จึงเป็นแขนงหนึ่งของการประเมินค่าทรัพย์สิน ซึ่งมีหลักการและวิธีการเหมือนกัน ต่างกันเพียงในรายละเอียดของทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม ข้อกฎหมาย ตลาดและแนวทางภาคปฏิบัติเท่านั้น

มาตรฐานสากล
          มีองค์กรที่จัดทำมาตรฐานการประเมินค่าเครื่องจักรในโลก นี้มี 2 องค์กรที่สำคัญ ได้แก่ The Appraisal Foundation ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา (ผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการที่ปรึกษาของหน่วยงานนี้ด้วย) และ International Valuation Standards Committee (IVSC) ซึ่งตามมาตรฐานของ IVSC การประเมินค่าเครื่องจักร ประกอบด้วย เครื่องจักร (machinery) เครื่องมือ (equipment) และสิ่งก่อสร้าง (plant) ที่สร้างขึ้นเฉพาะสำหรับเครื่องจักร เช่น อาคารโรงไฟฟ้า ซึ่งไม่ใช่อาคารโรงงานทั่วไปที่จะเราเครื่องจักรอะไรไปติดตั้งก็ได้

สาระสำคัญของคำแนะนำในการประเมินเครื่องจักรมีหลายประการ แต่ขอยกเป็นตัวอย่างดังนี้:
          1. การประเมินค่าโดยใช้วิธีต้นทุน วิธีการเปรียบเทียบตลาดและวิธีการแปลงรายได้เป็นมูลค่า
          2. การประเมินที่ให้ความสำคัญกับมูลค่าตลาดซึ่งสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้อย่างเป็นธรรมในตลาด (arm’s-length transaction) 
          3. มูลค่าที่ประเมินรวมถึงค่าติดตั้งเครื่องจักรด้วย
          4. ในการประเมินจำเป็นต้องคำนึงถึงข้อจำกัดหลายด้าน เช่น ด้านกฎหมาย ด้านสิ่งแวดล้อม ภาวะตลาดของผลิตภัณฑ์ที่เครื่องจักรนั้นใช้ผลิต เป็นต้น
          5. เครื่องจักรที่เป็นส่วนหนึ่งของอาคาร เช่น ระบบลิฟท์ ระบบปรับอากาศ จะไม่ประเมินแยกส่วน ให้ถือเป็นส่วนควบของอาคาร ยกเว้นในกรณีที่ระบบอาคารบางอย่างที่ช่วยในการประหยัดพลังงานเป็นพิเศษ หรือในแง่ตรงกันข้ามหากขาดประสิทธิภาพจนก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองพลังงาน เป็นพิเศษ
          6. ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ ไม่ถือเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าของเครื่องจักร แสดงนัยถึงการเน้นประสิทธิภาพการผลิตเป็นสำคัญ ยกเว้นยี่ห้อของเครื่องจักรที่มีผลต่อราคาขาย

วิธีการประเมินค่าเครื่องจักร
          การ ประเมินค่าเครื่องจักรใช้วิธีการเช่นเดียวกับการประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ คือ ประเมินโดยวิธีต้นทุน วิธีการเปรียบเทียบตลาด และวิธีการแปลงรายได้เป็นมูลค่า
          สำหรับ วิธีการเปรียบเทียบตลาด ก็คือ การหาเครื่องจักรที่สามารถเทียบเคียงกันได้โดยตรงมาเปรียบเทียบ ซึ่งอาจเป็นเครื่องจักรใหม่หรือเครื่องจักรมือสอง ในแต่ละวงการอุตสาหกรรมย่อมมีการซื้อ-ขายเครื่องจักรกันเพราะบางกิจการก็ ประสบปัญหาล้มละลาย ในขณะที่บางกิจการก็อาจขยายตัว จึงทำให้มีตลาดที่แน่นอน ดังนั้นการเปรียบเทียบตลาดจึงวิธีการที่เป็นเหตุเป็นผลและถือว่าเป็นวิธีการ ที่ดีที่สุด
          สำหรับ วิธีการแปลงรายได้เป็นมูลค่า อาจใช้ในกรณีการเช่าเครื่องจักร เช่น ระหว่างการซื้อกับการเช่าคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร จักรเย็บผ้า ฯลฯ เป็นต้น วิธีนี้อาจใช้ในกรณีที่ตลาดเปิดกว้างเป็นพิเศษ ทำให้เราสามารถหา Rent multiplier หรือ เปอร์เซ็นต์ของค่าเช่าที่หารด้วยราคา เช่นเมื่อเราพบเครื่องจักรที่เช่ามา ณ ราคาหนึ่ง เราก็จะสามารถนำมาหารด้วย Rent Multiplier เพื่อหามูลค่าของเครื่องจักรนั้น เป็นต้น
          ไม่ ว่าจะเลือกใช้วิธีการประเมินค่าใดก็ตาม ประการสำคัญของการประเมินค่าทรัพย์สินทั่วไปก็คือ เราต้องแสดงวิธีการประเมินพร้อมสมมติฐานต่าง ๆ ให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือและเพื่อเป็นการป้องกันตัวผู้ประเมินเองในส่วน หนึ่งด้วย เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจทางธุรกิจจากรายงาน การประเมินที่ได้อ่านและยอมรับในวิธีการและสมมติฐานต่าง ๆ แล้ว

โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
          ข้อมูลคือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการประเมินค่าเครื่องจักรได้ อย่างมีนัยสำคัญ ในวงการต่าง ๆ ย่อมมีการซื้อ-ขายเครื่องจักรแน่นอน ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจำเป็นต้องเข้าใจตลาดอุตสาหกรรมนั้น ๆ ก่อนที่จะประเมินค่าทรัพย์สิน ไม่ใช่เพียงแต่การพิจารณาจากต้นทุนของเครื่องจักรนั้นเพียงอย่างเดียว ดังนั้นเราจึงต้องพยายามทำให้เกิดข้อมูลตลาดจากระบบตลาดที่มีอยู่ และต้องศึกษาเรียนรู้จากผู้รู้ในวงการอุตสาหกรรม (industry expert) ที่เราไปประเมิน 
          ข้อมูลทะเบียนเครื่องจักร รายละเอียดและสภาพของเครื่องจักร เอกสารการซื้อขาย ราคาที่ซื้อมา ราคาขายต่อ ราคาเสนอขายสินค้ามือสองในตลาด ประวัติการเคลื่อนย้ายและบำรุงรักษา ที่ตั้ง(โดยสังเขป) ของเครื่องจักร เป็นข้อมูลที่ควรดำเนินการเก็บรวบรวมอย่างต่อเนื่อง และที่สำคัญคือควรมีการเปิดเผยต่อทุกฝ่าย (เจ้าของเครื่องจักรที่คิดจะซื้อหรือขาย สถาบันการเงิน หรือผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน) ในความเป็นจริงข้อมูลเหล่านี้ควรเปิดเผยทั่วไป แต่หากติดปัญหาเกี่ยวกับ พรบ.ข้อมูลข่าวสารในส่วนที่เกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลก็ยังอาจเผยแพร่ได้โดย ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดของเจ้าของหรือผู้รับจำนอง เป็นต้น
          การมีระบบฐานข้อมูลที่ดี ย่อมจะทำให้การประเมินค่าทรัพย์สินสะดวก รวดเร็ว แม่นยำและน่าเชื่อถือได้มากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่สมมติฐานส่วนตัวของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งโดยเฉพาะ

ใครควรเป็นผู้ประเมินค่าเครื่องจักร
          แน่นอนว่าวิศวกรเครื่องกล ย่อมมีพื้นฐานความรู้เรื่องเครื่องจักรได้มากกว่านักวิชาชีพอื่น แต่การจะเอาวิศวกรสักคนมาประเมินค่าเครื่องจักรอาจเหมือนการเอาเภสัชกรมา นั่งในร้านขายยา เครื่องจักรมีส่วนประกอบที่ซับซ้อน และยิ่งถ้าซับซ้อนมาก ๆ อย่าว่าแต่วิศวกรเลย แม้ระดับศาสตราจารย์ก็ยังอาจหนักใจ และคงต้องใช้บุคลากรในหลายวงการมาร่วมกันวิเคราะห์ ดังนั้นการประเมินค่าทรัพย์สินจึงเป็นระบบสหศาสตร์ (interdisciplinary approach)
          อย่างไรก็ตามเครื่องจักรส่วนใหญ่มักเป็นเครื่องจักรที่ใช้ในวงการ อุตสาหกรรมหลักทั่วไป เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า โรงสี หรือโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งเป็นเครื่องจักรที่ “ซ้ำซาก” สำหรับวิศวกร แต่ก็เป็นเครื่องจักรที่ทำความเข้าใจการทำงานได้ไม่ยากสำหรับบุคคลทั่วไป ดังนั้นผู้ที่จะประเมินค่าเครื่องจักรไม่จำเป็นต้องเป็นวิศวกร เพียงแต่ต้องมีประสบการณ์ในระดับหนึ่งที่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจลักษณะ และกลไกของเครื่องจักรทั่วไป

 ดังนั้นผู้ที่จะประเมินค่าเครื่องจักรได้ ควรมีคุณลักษณะดังนี้:

      1. มีความรู้เรื่องการประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์มาระดับหนึ่ง เช่น ผ่านการอบรมประกาศนียบัตรวิชาชีพ 240 ชั่วโมงของโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย (trebs.ac.th) หรือประกาศนียบัตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือปริญญาตรี-โทด้านการ ประเมินค่าทรัพย์สิน 

 

      2. ควรมีการอบรมเพิ่มเติมด้านการประเมินราคาเครื่องจักร 96 ชั่วโมง (16 วัน) ตามหลักสูตรมาตรฐานของสถาบันต่าง ๆ เช่น American Society of Appraisers (ASA) ที่กำหนดให้ศึกษา 4 วิชา ๆ ละ 4 วัน เช่น ME201 Introduction to Machinery and Equipment Valuation, ME202 Machinery and Equipment Valuation Methodology, ME203 Machinery and Equipment Valuation - Advanced Topics and Case Studies และ ME204 Machinery and Equipment Valuation - Advanced Topics and Report Writing 

 

    3. ควรมีประสบการณ์ในการช่วยงานการประเมินเครื่องจักรมาตามสมควร เช่น 2-3 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะสามารถประเมินค่าเครื่องจักรได้

การพัฒนาเฉพาะหน้า-เร่งด่วน 
จากการสัมมนาดังกล่าว ผมเองมีความเห็นว่า สิ่งที่ควรดำเนินการโดยรีบด่วนในปัจจุบันได้แก่:

      1. ควรจัดการอบรมการประเมินค่าเครื่องจักรเป็นระยะ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในปัจจุบันโดยทางสำนักงานทะเบียนเครื่อง จักรกลาง อาจรับเป็นเจ้าภาพ

 

      2. สำหรับการจัดอบรมที่ได้มาตรฐานสากลระดับนานาชาติ เช่นตามหลักสูตรของ ASA หรือจากประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง ซึ่งผมในฐานะที่มีบทบาทระหว่างประเทศด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน สามารถช่วยประสานงานการจัดการอบรมดังกล่าวได้

 

      3. ควรจัดทำมาตรฐานและจรรยาบรรณการประเมินค่าเครื่องจักร

 

      4. สำหรับในรายละเอียด ควรจัดทำคู่มือการประเมินค่าเครื่องจักรพร้อม FAQ หรือ (คำถามที่มักถามบ่อย, frequently-asked question) เพื่อให้การประเมินค่าเครื่องจักรเป็นไปในแนวทางที่ใกล้เคียงกัน

 

      5. ควรจัดทำศูนย์ให้คำปรึกษาการประเมินค่าเครื่องจักรเพื่อช่วยผู้ประเมินทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และรวบรวมทำ FAQ ข้างต้น

 

      6. ควรจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนและมูลค่าเครื่องจักรตามที่เสนอไว้ข้างต้น

 

      7. ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกตลาดซื้อขายเครื่องจักรมือสองในวงการต่าง ๆ ผ่านตลาดในอินเตอร์เน็ตหรือตลาดจริง ๆ เพื่อให้มีราคาตลาดที่เป็นรูปธรรมจากการเติบโตของระบบตลาดเครื่องจักรใน ประเทศไทย

 

    8. ควรจัดตั้งคณะกรรมการควบคุมวิชาชีพประเมินค่าเครื่องจักรเพื่อตรวจสอบการ ประเมินค่าเครื่องจักรให้ได้มาตรฐานและป้องกันการทุจริต

การควบคุมนักวิชาชีพ
          การ ควบคุมนักวิชาชีพผู้ประเมินค่าเครื่องจักรหรือ (อ)สังหาริมทรัพย์ใด ๆ เป็นสิ่งที่ควรดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการ และเมื่อผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจ ก็ย่อมจะมาใช้บริการมากขึ้น ทำให้บริการวิชาชีพมีความเจริญเติบโตมากขึ้น ผมจึงได้นำเสนอการควบคุมวิชาชีพไว้ดังนี้:
          1. ควรตั้งสภาวิชาชีพ เนื่องจากการปล่อยให้ควบคุมกันเองเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากและคงยังความ ตะขิดตะขวงใจพอสมควร แม้ว่าการควบคุมกันเองอาจมีปรากฎในกรณี RICS ซึ่งมีมานานนับร้อยปีแล้ว แต่ตัวอย่างที่ดีของสภาวิชาชีพในประเทศไทย ได้แก่ วิชาชีพวิศวกร สถาปนิก และนักบัญชี ซึ่งมีสมาคมแห่งประเทศไทยที่เข้มแข็ง และสมาคมก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์ของนักวิชาชีพ ดังนั้นจึงได้เกิดสภาวิศวกร สภาสถาปนิก และสภานักบัญชี เพื่อควบคุมวิชาชีพ โดยรัฐบาลส่งผู้แทนมาเป็นประธานเพื่อกำกับดูแลวิชาชีพแทนประชาชน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ให้บริการและผู้บริโภค เป็นกรรมการร่วมด้วย
          2. ควรมีการตรวจสอบการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิดคล้ายการควบคุมวิชาชีพ (quality control) เพื่อป้องกันการทุจริตและช่วยตรวจสอบความผิดพลาดที่อาจยังพอป้องกันและแก้ไข ได้โดยคณะทำงานของสภาวิชาชีพ
          3. ในกรณีสำคัญ (เช่น ทรัพย์สินของวิสาหกิจมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ที่มูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินได้ มีผลกระทบต่อประชาชนผู้ถือหุ้น) จะให้วิสาหกิจนั้น ๆ ว่าจ้างผู้ประเมินเองไม่ได้เพราะอาจร่วมกันทุจริต จะต้องว่าจ้างผ่าน กลต. โดยให้วิสาหกิจนั้น ๆ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
          อย่า ลืมว่าต่อให้มีกฎระเบียบมากมายในการศึกษา การสอบผู้ประเมิน แต่หากไม่มีการควบคุมการปฏิบัติงานให้ดี สิ่งที่ทำมาก็อาจเป็นเพียงอาภรณ์เพื่อช่วยปกปิดการเปิดช่องโหว่ให้มีโอกาส ทุจริตแบบปากว่าตาขยิบอยู่นั่นเอง

ที่มา : วารสาร Thai Appraisal Vol.5,No.5 กันยายน-ตุลาคม 2549 หน้า 8-9

 

13 กันยายน 2561

ผู้ชม 2839 ครั้ง

Engine by shopup.com